ยินดีต้อนรับเข้าสู่สังคมการเทรด Forex
ช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ.2540 บ้านเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกไว้กับตะกร้าเงิน (Pegged to the basket currency) ตะกร้าเงินที่ว่านี้คือ เงินสกุลสำคัญๆ ของโลกหลายสกุลเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกันตามปริมาณการค้าของไทยกับประเทศนั้นๆ (ซึ่งเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ มีน้ำหนักสูงสุดในตะกร้าเพราะเราค้าขายด้วยเงินดอลล่าร์เป็นหลัก) การผูกค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินนี้หมายความว่า อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทกับตะกร้าเงินหรือเงินดอลล่าร์จะเคลื่อนไหวในช่วงที่แคบมากในแต่ละวัน หรือเกือบจะเรียกว่าคงที่เลยก็ได้ สาเหตุที่เราเลือกใช้ระบบนี้เป็นเพราะเราต้องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างต่างประเทศ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนนิ่ง นักธุรกิจก็จะทำธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างสบายใจ เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนแต่ในการผูกค่าเงินไว้กับตะกร้าเงินนั้นมีต้นทุนด้วย ทุกๆ วัน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นผู้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา โดยใช้เงินทุนสำรองที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ เมื่อความต้องการเงินบาทในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากสินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดโลกหรือชาวต่างชาติอยากนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แรงซื้อเงินบาทก็จะทำให้เงินบาทก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องรีบเทขายเงินบาทออกมาด้วยการซื้อเงินดอลล่าร์เอามาเก็บ (ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่ม) แรงขายสวนตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยจะช่วยทำให้ค่าเงินบาทยังอยู่ที่เดิมได้ต่อไปเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ ในทางตรงกันข้าม เมื่อความต้องการเงินบาทในตลาดลดลง ซึ่งอาจจะเกิดจากสินค้าไทยเป็นทีี่ต้องการน้อยลง หรือบริษัทไทยที่กู้เงินต่างประเทศมาต้องการแลกเงินดอลล่าร์เพื่อเอาไปชำระเงินกู้ต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องรีบเข้าไปกว้านซื้อเงินบาทในตลาดด้วยการขายเงินดอลล่าร์ออกมา (ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง) ค่าเงินบาทก็จะคงที่อยู่อย่างเดิม ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องคอยทำเช่นนี้อยู่ทุกวันเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้นิ่งอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ในระยะยาวมักนำประเทศไปสู่วิกฤตการเงินเสมอ เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกและความน่าลงทุนของแต่ละประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาซึ่งย่อมส่งผลต่อค่าเงินของประเทศนั้นๆ ด้วย ปกติแล้วค่าเงินที่เปลี่ยนไปตามพื้นฐานของประเทศจะช่วยปรับสมดุลได้ เช่น ถ้าสินค้าส่งออกแข่งขันได้ยากขึ้น ค่าเงินจะอ่อนลง ทำให้สินค้าส่งออกมีราคาถูกลงในตลาดโลก สินค้าก็จะขายได้มากขึ้น ทำให้ค่าเงินกลับมาแข็งอีกในอนาคตได้ แต่การบังคับค่าเงินให้อยู่ที่เดิมเป็นเวลานานๆ เป็นการบิดเบือนค่าที่แท้จริงของเงิน ซึ่งจะนำพาไปสู่วิกฤตการเงินในระยะยาว
ช่วงปี 2538 ประเทศไทยเริ่มมีความได้เปรียบเรื่องค่าแรงน้อยลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในเอเชียทำให้สินค้าไทยเริ่มแข่งขันได้ยากขึ้น แต่แทนที่เงินบาทจะอ่อนลงเพื่อช่วยการส่งออก เงินบาทกลับถูกผูกไว้กับดอลล่าร์ที่อัตราแลกเปลี่ยนเดิม ประเทศไทยจึงขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะส่งออกได้น้อยลง ความต้องการเงินบาทในตลาดก็น้อยลงเพราะสินค้าไทยเป็นที่ต้องการน้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยิ่งนำเงินทุนสำรองมาซื้อเงินบาทในตลาดเพื่อพยุงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ยิ่งพยุงเงินบาทไว้ที่เดิมก็ยิ่งส่งออกได้ยากขึ้นทำให้ยิ่งต้องพยุงมากขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วทุนสำรองก็ใกล้หมด ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ซึ่งนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในเวลาต่อมา
ในอดีต การผูกค่าเงินไว้ให้คงที่มักให้ผลดีในระยะสั้นแต่นำไปสู่วิกฤตการเงินในระยะยาวในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Bretton Woods ของโลกในช่วงทศวรรษที่ 70 วิกฤตค่าเงินปอนด์ในปี 1992 วิกฤตการเงินของประเทศแม็กซิโกในปี 1994 วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 การลดค่าเงินรูเบิลของรัสเซียในปี 1998 ประเทศเหล่านี้ล้วนใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกค่าเงินในช่วงก่อนเกิดวิกฤตทั้งสิ้น
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไม่ก่อทำให้เกิดวิกฤตการเงินคือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating System) อัตราแลกเปลี่ยนในระบบนี้จะเปลี่ยนไปตามความต้องการซื้อและขายเงินที่เกิดขึ้นจริงในตลาดตลอดเวลาโดยปราศจากการแทรกแซงค่าเงินโดยธนาคารกลาง ค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาจะช่วยทำให้ค่าเงินตรงกับเป็นจริงและเป็นการปรับสมดุลทางการค้าและการลงทุนหรือดุลการชำระเงินของประเทศโดยอัตโนมัติ เป็นต้นว่า ถ้าประเทศขาดดุลการค้า เพราะส่งออกได้น้อยลงเนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกลดลง ค่าเงินก็จะอ่อน ทำให้สินค้าส่งออกมีราคาลดลงเมื่อคิดเป็นเงินต่างประเทศ ประเทศก็จะกลับมาส่งออกได้มากขึ้น การขาดดุลการค้าก็จะลดลงได้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจึงเป็นระบบที่ไม่ก่อให้เกิดวิกฤตในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวมักไม่เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจในระยะสั้นเนื่องจากค่าเงินที่ผันผวนตลอดเวลาทำให้นักธุรกิจบริหารจัดการต้นทุนได้ลำบากขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินที่เคลื่อนไหวไปมายังสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินในระยะสั้น โดยนักค้าเงิน ทำให้ค่าเงินในระยะสั้นยิ่งมีความผันผวนมากขึ้นไปอีก นักธุรกิจที่ทำธุรกิจภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวจึงต้องเรียนรู้ที่จะซื้อขายเงินล่วงหน้าด้วยตนเองเพื่อเป็นการประกันความเสี่ยง
หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยและประเทศในเอเชียส่วนใหญ่หันมาใช้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแต่มีการบริหารจัดการร่วมด้วย (Managed Floating System) กล่าวคือ ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวตามแรงซื้อแรงขายที่แท้จริงในตลาดเงินเป็นหลัก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงมีการแทรกแซงค่าเงินเป็นระยะๆ เพื่อช่วยลดความผันผวนที่มากเกินไปในบางช่วง การแทรกแซงนี้เป็นไปเพื่อช่วยลดความผันผวนเท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการพยุงค่าเงินไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ เหมือนแต่ก่อน
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ประเทศส่งออกในเอเชียสมัยนี้ส่วนใหญ่มักแข่งขันกันแทรกแซงค่าเงินของประเทศตัวเองให้อ่อน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง เมื่อประเทศหนึ่งทำค่าเงินของตัวเองให้อ่อนเพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออก ประเทศอื่นๆ ก็มักจะทำตามเพื่อมิให้เสียเปรียบ การแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้นจึงเริ่มกลายเป็นการแทรกแซงค่าเงินที่มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการส่งออก ซึ่งสุดท้ายแล้ว เมื่อประเทศในเอเชียพยายามทำค่าเงินให้อ่อนลงเท่ากันหมด ก็ไม่มีประเทศใดได้เปรียบเสียเปรียบกันแต่ทำให้ประเทศที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ สามารถซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านี้ได้ในราคาที่ถูก เพราะค่าดอลล่าร์จะแข็งขึ้นเกินความเป็นจริงเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศส่งออกในเอเชียเหล่านี้ เมื่อค่าเงินเอเชียถูกแทรกแซงให้อ่อนเกินความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา โลกก็มีโอกาสที่จะกลับมาเกิดวิกฤตการเงิน เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกในอนาคต
นอกเหนือจากการระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบผูกค่าเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแล้ว โลกของเรายังมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนอีกประเภทหนึ่งคือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) ซึ่งคล้ายกับการผูกค่าเงินตรงที่ อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลใหญ่จะคงที่อยู่ตลอดเวลา แต่แทนที่ธนาคารกลางจะใช้วิธีแทรกแซงค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารกลางของประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบนี้จะยอมสละอิสรภาพในการบริหารจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ปริมาณเงินภายในประเทศเป็นตัวปรับสมดุลแทนอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างของประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบนี้ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบที่เรียกว่า Currency Board ภายใต้ระบบนี้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินดอลล่าร์ฮ่องกงกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จะถูกกำหนดไว้แน่นอนตายตัว แต่เมื่อใดที่ประเทศขาดดุลการค้า คณะกรรมการบริหารเงินตราจะลดปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศลงทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหดตัว เมื่อเศรษฐกิจในประเทศหดตัว การนำเข้าจะลดลงทำให้ประเทศกลับมาได้ดุลการค้าอีกครั้ง เมื่อมีการปรับสมดุลโดยใช้ปริมาณเงินภายในประเทศจึงทำให้สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่ได้โดยไม่นำไปสู่วิกฤตในอนาคต แต่ปริมาณเงินในประเทศจะต้องขึ้นลงตามดุลการค้าทำให้ไม่สามารถใช้ปริมาณเงินเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้อีกต่อไป
หรือประเทศปานามาที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Dollarization กล่าวคือ อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จะถูกกำหนดไว้แน่นอน และธนาคารกลางจะผลิตเงินบอลบัวออกมาได้ก็ต่อเมื่อประเทศสามารถส่งออกได้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มาในจำนวนที่เท่ากันเท่านั้น เงินบอลบัวทั้งหมดจึงถูกประกันไว้ด้วยเงินดอลล่าร์ทั้งจำนวน ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลของตัวเองในทางพฤตินัยนั่นเอง เมื่อใดที่ปานามาส่งออกได้น้อยลง ปริมาณเงินบอลบัวในประเทศก็จะลดลงตามด้วย เศรษฐกิจในประเทศจะหดตัว ทำให้การนำเข้าลดลง ประเทศจึงกลับมาเกินดุลการค้าได้อีกครั้ง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เหล่านี้จึงเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ให้ได้ทั้งเสถียรภาพในระยะสั้น และไม่ก่อให้เกิดวิกฤตในระยะยาวด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบนี้ได้ต้องเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีการค้าขายกับประเทศที่ผูกค่าเงินเอาไว้เป็นปริมาณที่มาก นอกจากนี้่ เศรษฐกิจภายในประเทศยังต้องมีเสถียรภาพมากพอสมควร เนื่องจากจะต้องทนทานต่อการปรับสมดุลโดยใช้การเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในประเทศแทนอัตราแลกเปลี่ยนได้
อาเจนติน่า เป็นประเทศหนึ่งที่เคยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Dollarization แต่ก็ยังเกิดวิกฤตในที่สุด เพราะแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องดุลการค้าแต่เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพมากพอ ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตความมั่นใจของระบบสถาบันการเงินภายในประเทศ นักลงทุนที่รู้สึกไม่มั่นใจต่างพากันนำเงินมาแลกเป็นเงินดอลล่าร์จนกระทั้งธนาคารกลางไม่มีเงินดอลล่าร์เหลือกลายเป็นภาวะวิกฤตอยู่ดี
สุดท้ายแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใดที่จะทนทานต่อการเกิดวิกฤตได้ดีเท่ากับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว
. . . .
การเกิดขึ้นของเงินยูโร คือความพยายามครั้งล่าสุดโดยประเทศทั้งหลายในยุโรปที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว เพราะการใช้เงินสกุลเดียวกันก็เหมือนกับการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนทุกประเทศในยุโรปคงที่นั่นเอง
เมื่อใดก็ตามที่ประเทศเหล่านี้ประเทศใดประเทศหนึ่งประสบปัญหาขาดดุลการค้า ค่าเงินที่คงที่จะทำให้้เศรษฐกิจภายในประเทศนั้นหดตัวลง เพราะส่งออกได้น้อยลงแต่เงินไม่อ่อนตาม ธนาคารกลางของประเทศนั้นจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศหดตัวได้ เนื่องจากการใช้เงินสกุลเดียวกันกับภูมิภาคทำให้อัตราดอกเบี้ยต้องเป็นอัตราเดียวกันกับภูมิภาคไปด้วยโดยปริยาย ประเทศที่ใช้เงินยูโรจึงไม่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศตนเอง เรื่องนี้นับว่าเป็นความท้าทายของการใช้เงินยูโร วันใดที่่เศรษฐกิจภายในของประเทศเหล่านี้มีปัญหามากเสียจนทำให้เกิดแรงกดดันทางการเมือง ประเทศเหล่านี้ก็อาจขอถอนตัวจากการใช้เงินยูโร เพื่อหันมาจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศโดยใช้นโยบายดอกเบี้ย ทำให้ความหวังที่ทุกประเทศในยุโรปจะหันมาใช้เงินสกุลเดียวกันไปไม่รอด
ที่จริงแล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้ทวีปยุโรปทั้งทวีป แต่สหรัฐอเมริกาก็สามารถใช้เงินดอลล่าร์เป็นเงินสกุลเดียวกันทั้งทวีปได้นานแล้วโดยที่ไม่มีปัญหา ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ การเคลื่อนย้ายแรงงานและทุนข้ามรัฐฯ ในประเทศสหรัฐฯ อเมริกาสามารถทำได้ง่าย (หรือที่เรียกว่าสหรัฐฯ มี Labor Mobility สูง) เนื่องจากวัฒนธรรมของสหรัฐฯ ทั้งประเทศที่มีความใกล้เคียงกันมาก เวลาที่บางรัฐฯ เศรษฐกิจดี แต่บางรัฐเศรษฐกิจซบเซา แต่ทุกรัฐฯ ใช้อัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน แรงงานและทุนก็สามารถย้ายจากรัฐที่เศรษฐกิจไม่ดี ไปสู่รัฐที่เศรษฐกิจดีทำให้เกิดการปรับสมดุลได้โดยง่าย ต่างกับในกรณีของทวีปยุโรปซึ่งผู้คนในแต่ละประเทศยังคงมีความแตกต่างกันอยู่มากทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เวลาที่เศรษฐกิจของฟินแลนด์ไม่ดี แต่เศรษฐกิจของอิตาลีดี เป็นการยากที่คนฟินแลนด์จำนวนมากจะอพยพไปทำงานในอิตาลีเพื่อช่วยปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยที่สุด เรื่องภาษาก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญมากในการเคลื่อนย้ายแรงงานในทวีปยุโรป การใช้เงินสกุลเดียวกันทั้งภูมิภาคในกรณีของสหภาพยุโรปจึงเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้ยากกว่าในกรณีของสหรัฐฯ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตเงินยูโรจะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวหรือไม่
_________________________________________________________________________________________________________________
บทความที่น่าสนใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น